กรุงเทพฯ – 22 เมษายน 2568 – ซีเกท เทคโนโลยี โฮลดิงส์ (NASDAQ: STX) ผู้นำระดับโลกด้านการจัดเก็บข้อมูลความจุสูง ได้เผยแพร่รายงานระดับโลกฉบับล่าสุดเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์¹ โดยอ้างอิงจากผลสำรวจเฉพาะกิจที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายด้านความยั่งยืนที่ดาต้าเซ็นเตอร์กำลังเผชิญ ท่ามกลางการขยายขีดความสามารถขององค์กรต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของ AI ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Goldman Sachs Research คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ความต้องการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 165% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน สอดคล้องกับรายงานปี 2023 ของซีเกทที่ระบุว่า 53.5% ของผู้นำธุรกิจมองว่าการใช้พลังงานเป็นหนึ่งในข้อกังวลสำคัญอันดับต้นๆ โดยปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ชะลอตัว และการใช้งาน AI อย่างแพร่หลาย ล้วนส่งแรงกดดันให้องค์กรต่างๆ ต้องบริหารจัดการเรื่องการปล่อยคาร์บอน การขยายโครงสร้างพื้นฐาน และต้นทุนรวมตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ (Total Cost of Ownership หรือ TCO) ไปพร้อมกันอย่างรอบคอบ

ข้อมูลสำคัญจากผลสำรวจ:

  • AI ผลักดันความต้องการจัดเก็บข้อมูล: ผู้ตอบแบบสอบถาม 94.5% ระบุว่ามีความต้องการจัดเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น และ 97% เชื่อว่าการเติบโตของ AI จะยิ่งเร่งให้ความต้องการนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม vs. ต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (TCO): แม้เกือบ 95% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะแสดงความกังวลต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่มีเพียง 3.3% เท่านั้นที่นำประเด็นนี้มาพิจารณาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ
  • อุปสรรคสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของดาต้าเซ็นเตอร์: ผลสำรวจระบุอุปสรรคหลักเรียงตามลำดับ ได้แก่ การใช้พลังงานที่สูงขึ้น (53.5%) ความต้องการวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น (49.5%) ข้อจำกัดด้านพื้นที่ (45.5%) ต้นทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน (28.5%) และต้นทุนการจัดซื้อ (27%)
  • ช่องว่างในการจัดการวงจรชีวิตของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล: แม้ว่ากว่า 92.2% ของผู้ตอบแบบสอบถามจะตระหนักถึงความสำคัญของการยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล แต่มีเพียง 15.5% ที่ให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ เมื่อต้องตัดสินใจซื้อ

“ดาต้าเซ็นเตอร์กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างมหาศาล ไม่เพียงเพราะต้องรองรับเวิร์กโหลดจาก AI ยุคใหม่เท่านั้น ยังเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดในเศรษฐกิจดิจิทัล” เจสัน ไฟสต์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการตลาดคลาวด์ของซีเกท กล่าว “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนมุมมองต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างต้นทุนหรือความยั่งยืน แต่คือโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งสองด้านไปพร้อมกัน”

องค์กรที่กำลังขยายขีดความสามารถด้านข้อมูลมีทางเลือกหลักอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพภายในโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ การขยายพื้นที่ของดาต้าเซ็นเตอร์ หรือการโยกย้ายเวิร์กโหลดขึ้นสู่คลาวด์ ซึ่งแต่ละทางเลือกล้วนต้องคำนึงถึงสมดุลระหว่างต้นทุน การปล่อยคาร์บอน และการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดเรื่องต้นทุนรวมตลอดอายุการใช้งาน (TCO) และความยั่งยืนสามารถดำเนินควบคู่กันได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงาน พื้นที่ วัตถุดิบ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในวันนี้ ล้วนส่งผลต่อทั้งผลประกอบการของธุรกิจและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เสนอข้อแนะนำเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมข้อมูล ได้แก่:

  1. นวัตกรรมทางเทคโนโลยี: นวัตกรรมยังคงเป็นแรงผลักดันหลักในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน ความก้าวหน้าด้านพลังประมวลผล ความหนาแน่นของการจัดเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงาน เช่น ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว/การแช่ และระบบ HVAC ล้วนมีบทบาทสำคัญในการลดการใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอน ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม Mozaic 3+ ที่ใช้เทคโนโลยี HAMR ของซีเกท ซึ่งได้เริ่มผลิตในระดับอุตสาหกรรมแล้ว สามารถเพิ่มความจุข้อมูลได้มากถึง 3 เท่าในพื้นที่เท่าเดิม ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 70% ต่อเทราไบต์² และลดต้นทุนต่อเทราไบต์ได้ถึง 25%³
  2. การยืดอายุการใช้งานและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน: การซ่อมแซม นำกลับมาใช้ใหม่ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์และลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ การติดตามสภาพแวดล้อมของอุปกรณ์แบบเรียลไทม์และการรายงานข้อมูลอย่างโปร่งใส จะช่วยเพิ่มความรับผิดชอบและความยั่งยืนในระบบนิเวศของศูนย์ข้อมูล
  3. การแบ่งปันความรับผิดชอบในระบบนิเวศ: การลดการปล่อยคาร์บอนให้ครอบคลุมทั้ง Scope 1, 2 และ 3 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในห่วงโซ่มูลค่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงผู้ให้บริการคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

“ความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่สามารถขับเคลื่อนได้โดยลำพัง การนำแนวทางแบบองค์รวมมาใช้ ตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการวงจรชีวิตของอุปกรณ์ ไปจนถึงการแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกันในอุตสาหกรรมจะช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถรองรับการเติบโตของ AI และการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เจสัน ไฟสต์ กล่าวปิดท้าย

ดูผลการสำรวจและการวิเคราะห์ฉบับสมบูรณ์  และดาวน์โหลดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฉบับเต็มได้ที่: https://www.seagate.com/resources/decarbonizing-data-report/

You missed